วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มหายุคแห่งไดโนเสาร์

ไดโนเสาร์คืออะไร ?
   เรามาทำความรู้จักกับฟอสซิล (fossil) กันก่อน ซากดึกดำบรรพ์ หรือ ฟอสซิล (fossil) คือซากหรือร่องรอยของพืชหรือสัตว์ที่ถูกเก็บรักษาไว้โดยธรรมชาติในชั้นหินในเปลือกโลก


 ประโยชน์ของฟอสซิล คือ ฟอสซิลสามารถบอกเราให้ทราบถึงชนิดรูปแบบและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในช่วงระยะเวลาทางธรณีวิทยา ทั้งบ่งบอกสภาพแวดล้อมของโลกในอดีตกาลได้อีกด้วย เนื่องจากในแต่ละช่วงระยะเวลา ทางธรณีวิทยาจะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นเฉพาะบางชนิดเท่านั้น
   จากการคำนวณหาอายุของหินทั้งในโลกและจากดาวต่างๆในระบบสุริยจักรวาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากดวงจันทร์ โดยการศึกษาไอโซโทป (isotope) ของธาตุกัมมันตรังสีต่างๆ (radioactive elements) ที่เป็นส่วนประกอบของหิน รวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบชั้นหินโดยใช้ซากดึกดำบรรพ์ ทำให้ทราบอายุของโลกโดยประมาณ 4,600,000,000 ปี ( 4.6 billion years) และแบ่งช่วง ระยะเวลาทางธรณีดังกล่าวออกเป็น บรมยุค (eon) มหายุค (era) ยุค (period) และสมัย (epoch)


  ไดโนเสาร์ คือ สัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ซึ่งพวกมันมีผิวหนังที่ปกคลุมเป็นเกล็ดเช่นเดียวกับ งู จระเข้ หรือเต่า ซึ่งจะว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานอย่างเดียวเลยก็ไม่ได้เพราะพวกมันแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ พวกที่มีกระดูกสะโพกแบบกิ้งก่า และพวกที่มีกระดูกสะโพกคล้ายกับนกหรือสัตว์ปีกอีกด้วย
   ไดโนเสาร์ ปรากฎตัวขึ้นครั้งแรกบนโลกเมื่อราว 215 ล้านปีที่แล้ว ในมหายุคเมโสโซอิค และถูกเรียกว่าเป็นยุคแห่งไดโนเสาร์ทั้งหลาย มหายุคดังกล่าวได้ถูกแบ่งออกเป็นสามยุค ได้แก่ ไทรแอสสิค (Triassic), จูราสสิค (Jurassic), และครีตาเชียส (Cretaceous)

   ยุคไทรแอสสิค (Triassic ) 245-208 ล้านปีก่อน

   ในยุคนี้ โลกมีเพียงทวีปใหญ่ทวีปเดียว เรียกว่า มหาทวีปแพนเกีย (Pangaea) ตั้งอยู่บนมหาสมุทรแพนธาลัสสิค (Panthalassic ocean) โดยมีทะเลธีทีส (Tethys sea) เป็นส่วนผืนน้ำที่แยกจากมหาสมุทรเว้าเข้าไปในตอนกลางของทวีป
   สภาพอากาศยุคไทรแอสสิคมีสภาพร้อนแห้งแล้ง ยกเว้นแต่เพียบบริเวณใกล้กับชายขอบทวีป เนื่องจากดินแดนตอนในของทวีปอยู่ห่างจากทะเลมากจึงทำให้กระแสลมพัดพาความชื้นไปไม่ถึง จึงส่งผลให้พืชพรรณต่างๆเจริญเติบโตได้ดีแต่เพียงดินแดนที่ไม่ห่างจากชายฝั่งทะเลมาก สภาพดังกล่าวทำให้ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของยุคนี้เป็นเนินเขาโล่งเตียนและทะเลทราย ยกเว้นแต่ชายขอบทวีปที่ปกคลุมด้วยผืนป่าและทุ่งเฟิร์น


   ยุคไทรแอสสิค ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของไดโนเสาร์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สามัญที่สุดในยุคนี้ คือ สัตว์จำพวกเทอแรพซิดส์ชนิดใหม่ที่วิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุค เพอร์เมียน (Permian) ได้แก่ สัตว์จำพวกไซโนดอน (Cynodonts) ที่กินเนื้อ และดิกไซโนดอนท์ (Dicynodonts) ที่กินพืช

  ซินนอกนาตัส (Cynognathus) สัตว์กินเนื้อจำพวกไซโนดอน มีขนปกคลุมทั้งร่างกายเพื่อสร้างความอบอุ่น ลำตัวยาวประมาณ 1.5 เมตร





 

   ลิสโตรซอรัส (Lystrosaurus) สัตว์กินพืชจำพวก ดิกไซโนดอน มีงาขนาดเล็กอยู่ข้างกรามเพื่อช่วยในการขุดรากไม้ และมีจงอยปากที่แข็งแรงไว้ใช้สำหรับฉีกก้านพืช ลำตัวยาวประมาณ 1-2 เมตร



   และยังมีสัตว์เลื้อยคลานอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในยุคไทรแอสสิค นั่งก็คือ พวกอาโคซอร์ (Archosaurs) หรือพวกสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป มีแผ่นกระดูกเรียงเป็นแถวยาวอยู่ที่หลัง ยามที่ผักผ่อนขาของมันจะเหยียดออกจากด้าานข้าง แต่อาโคซอร์สามารถพับขามาอยู่ใต้ลำตัวของมันเพื่อช่วยให้มันวิ่งได้เร็วขึ้น

   โพสโตซุคัส (Postosuchus) สัตว์เลื้อยคลานจำพวก อาโคซอร์ นักล่าขนาดใหญ่ที่มีลำตัวยาวประมาณ 3 เมตร มันสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างว่องไวพอสมควร





   ในเวลาต่อมาสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดจำพวก อาโคซอร์ขนาดเล็ก ก็ได้เริ่มที่จะเดินบนขาหลังทั้งสองข้าง แทนการใช้ขาทั้งสี่ โดยอาโคซอร์เหล่านี้จะเริ่มมีลำตัวที่สั้นลงและหางที่ยาวขึ้นแทน เพื่อใช้ในการรักษาสมดุลในขณะออกวิ่งด้วยขาทั้งสอง สัตว์เหล่านี้เริ่มมีความแตกต่างจากอาโคซอร์อื่นๆ เพราะมีขายาวและตั้งตรงกว่าแกว่งจากหน้าไปหลัง แทนที่จะยื่นออกจากด้านข้างเหมือนพวกสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์กลุ่มนี้เองนับเป็นไดโนเสาร์รุ่นแรกของโลก
   ไดโนเสาร์รุ่นแรกๆ ของโลกเป็นสัตว์กินเนื้อ พวกมันสามารถเคลื่อนไหวได้ว่องไวกว่าสัตว์เลื้อยคลานและพวกเทอแรพซิดดส์ ทำให้ได้เปรียบในการออกล่าเหยื่อมากกว่า

  โคอีโลไฟซิส (Coelophysis) สัตว์กินเนื้อไดโนเสาร์รุ่นแรกๆของโลก มีหัวเล็กเรียวยาว ลำตัวบอบบาง มีคอกับหางที่ยาวมากและออกหากินรวมกันเป็นฝูง ลำตัวยาวประมาณ 2.8 เมตร






   พอเริ่มเข้าสู่ช่วงท้ายของยุคไทรแอสสิค ก็เริ่มมีไดโนเสาร์กินพืชชนิดแรกปรากฎขึ้นบนโลก เช่น แพลททีโอซอรัส ซึ่งเป็นพวกโปรซอโรพอด หรือไดโนเสาร์คอยาวรุ่นแรกๆ ที่มีลำตัวโหญ่หนา คอยาว และหนักกว่าสามตัน

   แพลททีโอซอรัส (Plateosaurus) สัตว์กินพืชจำพวกคอยาวรุ่นแรกๆของโลก หนักกว่าสามตันและมีลำตัวยาวถึง 8 เมตร







   ยุคจูราสสิค (Jurassic) 208-146 ล้านปีก่อน
   เมื่อสิ้นสุดยุคไทรแอสสิคเมื่อ 208 ล้านปีก่อน โลกก็เริ่มเข้าสู่ยุคจูราสสิค ซึ่งในยุคนี้สภาพภูมิประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยมหาทวีปแพนเกียเริ่มแยกตัวออกจากกัน จนกลายเป็นสองทวีปใหญ่ โดยทวีปทางเหนือถูกเรียกว่า ลอเรเซีย และทางใต้ถูกเรียกว่า กอนโดวานา โดยมีทะเลธีทีสคั่นกลางระหว่างทวีปทั้งสอง
   การแยกตัวเป็นสองทวีป ทำให้เกิดภูเขาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่หลายแห่งที่ยุบตัวจนกลายเป็นทะเลตื้นๆ ทำให้กระแสลมพัดพาความชื้นจากทะเลเข้าสู่ดินแดนตอนในได้มากขึ้น และพืชพรรณมากมายก็แพร่กระจายเข้าแทนที่ทะเลทราย จนทำให้มีป่าดิบชื้นขนาดใหญ่ปกคลุมไปทั่วภูมิภาคต่างๆ ซึ่งพืชในยุคนี้ เป็นพวกพืชที่อยู่ในตระกูล เฟิร์น สน ปรง ที่ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ พืชเหล่านี้หลายชนิดได้วิวัฒนาการจนมีขนาดใหญ่มหึมา ลำต้นสูงตรง ไม่มีกิ่ง ยกเว้นตรงส่วนปลายยอด
 
   ในยุคจูราสสิค ไดโนเสาร์หลายชนิดได้วิวัฒนาการจนมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะพวกินพืชกลุ่มซอโรพอดหรือไดโนเสาร์พันธุ์คอยาว ได้วิวัฒนาการตนเองจนมีขนาดใหญ่มหึมา และพวกกินเนื้อเองก็เช่นเดียวกัน

   อะพาโทซอรัส (Apatosaurus) ไดโนเสาร์กินพืชพันธุ์คอยาวที่มีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์คอยาวในยุคไทรแอสสิค มีความยาวประมาณ 21-27 เมตร และมีความสูงประมาณ 4.6 เมตร









   อัลโลซอรัส (Allosaurus) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่กว่าในยุคไทรแอสสิค มีลักษณะดุร้ายและเป็นนักล่าที่อันตรายมาก มีโหนดเล็กๆบริเวณเหนือดวงตาทั้งสองข้าง ขนาดลำตัวยาว 12 เมตร มีกรงเล็บทั้ง 3 อยู่ที่มือและเท้าของมัน และมีขากรรไกรที่แข็งแรงมาก มันสามารถล่าเหยื่อแม้กระทั้งสัตว์ขนาดใหญ่อย่างเจ้าอะพาโทซอรัสได้





   สเตโกซอรัส (Stegosaurus) เป็นไดโนเสาร์กินพืชอีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคจูราสสิค พวกมันเดินสี่ขาและมีศีรษะเล็ก และมีสมองที่เล็กมากเท่ากับลูกวอลนัท ซึ่งทำให้พวกมันไม่ค่อยจะฉลาดสะเท่าไหร่ ความยาวลำตัว 8-9 เมตร น้ำหนักประมาณ 3 ตัน มีจุดเด่นคือแผงกระดูกขนาดใหญ่บนหลัง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีไว้เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกายให้เย็นลง




   นอกจากนั้นยังมีสัตว์เลื่อยคลานทะเลที่แพร่หลายไปทั่วผืนน้ำ สัตว์เลื่อยคลานบินได้แพร่ไปทั่วท้องฟ้ารวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกตัวแรกของโลกด้วย

   เพลซิโอซอรัส (Plesiosaurus) สัตว์เลื่อยคลานที่อาศัยอยู่ในน้ำและเริ่มแพร่หลายจำนวนมากในยุคจูราสสิค นักวิทยาศาตร์ไม่ได้จัดหมวดหมู่ว่าพวกมันเป็นไดโนเสาร์ พวกมันเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยเฉพาะปลาที่อยู่ในน้ำ หายใจทางอากาศด้วยออกซิเจน ลำตัวยาวประมาณ 2 เมตรกว่าๆ
 





แรมโฟริงคัส (Rhamphorhynchus) สัตว์เลื่อยคลานที่บินได้ ไม่จัดว่าเป็นไดโนเสาร์ ชอบออกหาล่าเหยื่อตามทะเล อาหารที่ชอบคงเป็นพวกปลาเล็กปลาน้อยต่างๆ ขนาดความกว้างของปีกทั้งสองข้าง 1.5 เมตร ส่วนหัวยาว 19 เซนติเมตร












อาร์คีออปเทอริกซ์ (Archeopteryx) เชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของนก และเป็นนกชนิดแรกของโลก ขนาดลำตัวเท่าอีกา มีขนเป็นเส้นๆแบบเดียวกับนกในปัจจุบัน แต่มีปากที่เต็มไปด้วยฟันอันแหลมคมเหมือนพวกไดโนเสาร์ และมีกรงเล็บอยู่ที่ส่วนปลายของปีก







   ยุคครีตาเซียส (Cretaceous) 146-54 ล้านปีก่อน

   ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคทองของไดโนเสาร์เลยทีเดียว แต่ก็เป็นยุคสุดท้ายของไดโนเสาร์เช่นกัน เพราะยุคนี้ปรากฎไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์มาก และเป็นยุคที่สภาพภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากโลกในยุคนี้ มหาทวีปเหนือและใต้ ได้แยกออกจากกัน จนมีลักษณะใกล้เคียงกับทวีปต่างๆในยุคปัจจุบัน


   โดยการแยกตัวของผืนทวีปส่งผลให้สภาพอากาศมีความชุ่มชื้นมากยิ่งขึ้นเนื่องจากกระแสลมสามารถพัดพาความชื้นจากทะเลเข้าสู่แผ่นดินได้มากขึ้น ทำให้มีการวิวัฒนาการของพืชพรรณชนิดใหม่อย่างพวกไม้พุ่ม และต้นไม้บางชนิดที่คล้ายกับยุคหลังๆ ทำให้แผ่นดินในโลกยุคนี้ ถูกปกคลุมไปด้วยป่าดิบชื้นและท้องทุ่งกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยไม้พุ่มเตี้ยๆ อีกทั้งยังเป็นยุคที่โลกมีดอกไม้ปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรก



   อีกัวโลดอน (Iguanodon) ไดโนเสาร์กินพืช มีหนามรูปกรวยติดอยู่ที่อุ้งมือของพวกมันไว้ใช้ป้องกันตัว หรือหาอาหาร มีส่วนขาที่ใหญ่กว่าแขนของมัน ความยาวลำตัวประมาณ 9.3 เมตร  







 

  พาราซอโรโลฟัส (Parasaurolophus) ไดโนเสาร์พันธุ์กินพืช ที่มีรูปร่างของหัวแปลกคือกระโหลกยืนออกเป็นหลอดยาวแพร่ออกไปด้านหลังเป็นแนวโค้ง ความยาวลำตัว 10 เมตร และสูงประมาณ 1.8 เมตร







   ไทรเซราทอป (Triceratops) สัตว์กินพืช จำพวกที่มีเขาบนกระโหลก และมีจงอยปากที่แข็งแรง และมีแผงรอบหัวขนาดใหญ่รอบคอ มีเขาสามเขา ไว้ใช้ป้องกันตัว ขนาดลำตัวยาว 8 เมตร สูงประมาณ 4-6 เมตร หนัก 5-7 ตัน







ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ราชาแห่งไดโนเสาร์ นักล่าขนาดใหญ่ที่ดุร้าย ลำตัวยาว 12.4 เมตร สูงประมาณ 4.6 - 6 เมตร ขนาดขากรรไกรที่ยาวถึง 1.2 เมตร พวกมันชอบไล่ล่าพวกไทรเซราทอป









   อาคีโลซอรัส (Ankylosaurus) สัตว์กินพืช จำพวกที่มีเกราะแข็งรอบตัว และมีหนามขนาดใหญ่ยืนออกมาใช้ป้องกันอันตราย และที่ปลายห่างมีลูกตุ้มขนาดใหญ่ไว้ใช้ต่อสู้ ลำตัวยาว 7.5-10.7 เมตร สูงประมาณ 1.2 เมตร









   อิคธิโอซอรัส (Ichthyosaurus) เป็นสัตวที่อยู่ในมหาสมุทร แต่ไม่ใช่ไดโนเสาร์ ผิวหนังพวกมันลื่น และมีกระโหลกที่ใหญ่ มีสายตาที่ดีและได้ยินเสียงได้ดีมากๆ พวกมันว่ายน้ำได้เร็วถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่หาอาหารโดยการล่าปลาตัวเล็กๆ และพัวหอยต่างๆ ความยาวลำตัวประมาณ 2 เมตร และ หนัก 90 กิโลกรัม





   สไปโนซอรัส (Spionsaurus) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่มีแผงขนาดใหญ่ที่ด้านหลัง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเอาไว้ปรับอุณหภูมิในร่างกาย มีหัวกระโหลกคล้ายจรเข้ ลำตัวยาว 12-15 เมตร










   เทอแรนโนดอน (Pteranodon) สัตว์กินเนื้อ ที่โบยบินบนท้องฟ้า พวกมันไม่ใช่สัตว์จำพวกไดโนเสาร์ ชอบกินปลาเป็นอาหาร ลำตัวกว้าง 7.8 เมตร











   เวโลซีแรปเตอร์ (Velociraptor) ไดโนเสาร์กินเนื้อที่ฉลาดและว่องไว ออกล่าเหยื่อเป็นกลุ่มเหมือนหมาป่า มีอาวุธที่แหลมคมเหมือนใบมีดที่พับเก็บได้ที่อุ้งเท้า และมีฟันที่แหลมคม พวกมันดูคล้ายนกมาก ลำตัวยาวประมาณ 2 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร












จุดจบของมหายุคไดโนเสาร์

   ไดโนเสาร์ได้ปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ จวบจบสิ้นยุคครีตาเชียส เมื่อ 65 ล้านปีก่อน นักวิทยาศาตร์ต่างก็ไม่ทราบเหตุผลอันแน่ชัดว่าเหตุใดพวกมันจึงสูญพันธ์ุ มีแต่เพียงทฤษฎีต่างๆที่ กล่าวถึงการสูญพันธ์ุของไดโนเสาร์เอาไว้ อย่างเช่น อุกาบาตพุ่งชนโลก ไม่ก็ภูเขาไฟระเบิดทำให้ชั้นบรรยากาศเป็นพิษ หรือโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง จึงทำให้ไดโนเสาร์ปรับตัวไม่ทัน เป็นต้น เหลือรอดเพียงแค่สัตว์ขนาดเล็กเช่นพวก สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย และสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดเท่านั้น
   และก็จบมหายุคของไดโนเสาร์ เป็นเวลากว่า 165 ล้านปี
อ้างอิง
1. ไดโนเสาร์ครองโลก (Age of Dinosaur), KOMKID.COM เรื่องราวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และความรู้รอบตัวต่างๆ (2559), http://www.komkid.com/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2/%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81age-of-dinosaur/

2. ซากดึกดำบรรพ์ และไดโนเสาร์, กรมทรัพยากรธรณี (2559), http://www.dmr.go.th/ewtadmin/ewt/dmr_web/main.php?filename=ti2din1d

3. ERA OF THE DINOSAURS, FACT MONSTER (2016), http://www.factmonster.com/dk/science/dinosaurs/era-of-the-dinosaurs.html

4. Earth History and Jurassic Coast, JURASSICCOAST dorset and east devon world heritage site (2016), http://jurassiccoast.org/about/what-is-the-jurassic-coast/earth-history-and-the-jurassic-coast/

5. dinosaurs, Enchantedlearning.com (2016), http://www.enchantedlearning.com/subjects/dinosaurs/dinotemplates/Jurassicprintouts.shtml

6. Jurassic period, BBC (2016), http://www.bbc.co.uk/nature/history_of_the_earth/Jurassic

2 ความคิดเห็น: